Wednesday, December 20, 2006

โรงเรียนบ้านโนนสำราญ

พันธ์พิมพ์เป็นหนึ่งในผู้สอนรายวิชา “สหสาขาเพื่อพัฒนาชนบท” และได้มีโอกาสตามคณาจารย์ออก trip กับนิสิตด้วย

กลุ่มของพวกเราประกอบด้วย อาจารย์ 6 คน นิสิตปริญญาโทผู้ช่วยสอน 1 คน เจ้าหน้าที่ศูนย์การศึกษาทั่วไป 2 คน และนิสิตปีที่ 4 จำนวน 50 คน ได้ใช้เวลา 4 วัน ณ หมู่บ้านโนนสำราญ ตำบลวังไชย อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2549 นิสิตจำนวน 7 กลุ่มได้แยกย้ายกันทำ project ที่สนใจ

เนื่องจากตัวเองมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเกษตร พันธ์พิมพ์จึงเข้าดูแลนิสิตกลุ่มที่สนใจด้านการเลี้ยงไหมและผลิตผ้าไหม และ กลุ่มที่สนใจด้านการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์
แต่ว่าเรื่องที่จะเล่านี่ ไม่ใช่ทั้งเรื่องผ้าไหมและเรื่องปุ๋ย (แม้ว่าจะน่าสนใจอย่างยิ่งทั้งคู่) เพราะวิญญาณความเป็นครู ทำให้พันธ์พิมพ์ สนใจเรื่องคุณภาพของการศึกษาของเด็กๆ มากเป็นพิเศษ



ในคืนวันที่เรานำเสนอผลการศึกษาให้ชาวหมู่บ้านได้ชม พันธ์พิมพ์ได้มีโอกาสพบกับท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ. ภัคจิรา ซึ่งได้คุยกันเรื่องนักเรียนของท่าน โรงเรียน อุปกรณ์ และ สิ่งจำเป็นเร่งด่วน ท่าน ผอ. ได้กรุณาเล่าเรื่องต่างๆ พอจะสรุปได้ดังนี้

โรงเรียนมีครูทั้งหมด 3 คน (รวม ผอ. ด้วย) และเปิดสอนทั้งหมด 8 ระดับ
ครู 1 คน สอน อนุบาล 1-2 และ ประถม 1-2
อีก 1 คน สอนประถม 3-4
ผอ. สอนประถม 5-6

คุณครูทุกคนต้องแบ่งเวลาระหว่างชั้นเรียน โดยการสอนและให้แบบฝึกหัดแก่ชั้นหนึ่ง แล้วจึงสอนอีกชั้นหนึ่ง คุณครูไม่ต้องออกแรงเดินไปไกลเลย เนื่องจากเด็กๆ จาก 2 ชั้นเรียนติดกัน จะใช้ห้องเรียนร่วมกัน โรงเรียนมี 3 ห้องเรียน (ใครที่อ่านหนังสือชุด “บ้านเล็ก” ของลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ คงจะนึกออก ภาพโรงเรียนที่นี่ดีกว่านิดหน่อย ตรงที่ว่า ในชุดบ้านเล็ก ครู 1 คนสอนหมดทุกชั้นเลย แต่นั่นมันกว่า 100 ปีมาแล้ว)

แม้จะต้องเผชิญความขลุกขลักดังกล่าวนี้ เด็กๆ ดูจะเก่งทีเดียว บางครั้งน้องที่อยู่ชั้นต่ำกว่า จะตอบคำถามของพี่ชั้นโตกว่า ก็เพราะได้ฟังคุณครูไปพร้อมๆ กันนี่แหละ

จะมีนักเรียนจำนวนไม่เกิน 6 คน ต่อ 1 ชั้น (ดูในช่องสุดท้ายในตารางแสดงจำนวนนักเรียน ในรูปข้างล่าง)
แม้จำนวนนักเรียนจะน้อย แต่ก็มีหนังสือเรียนไม่พอสำหรับทุกคน ปกติ นักเรียน 2 (บางครั้ง 3) จะต้องใช้หนังสือเรียนเก่าๆ ร่วมกัน นั่นคือ ต้องทำการบ้านให้เสร็จที่โรงเรียน และไม่มีหนังสือเรียนไว้ทบทวนที่บ้าน

เมื่อ 2-3 ปีก่อน โรงเรียนเกือบจะถูกปิดลง เนี่องจากไม่มีงบประมาณและจำนวนนักเรียนน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม ชาวหมู่บ้านได้ร่วมมือร่วมใจ ร่วมแรงและระดมทรัพย์กัน ช่วยพยุงไว้ ไม่ให้โรงเรียนถูกปิดลงได้

โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือจากภายนอกบ้าง เดือนละครั้ง จะมีกลุ่มอาสาสมัคร “อาหารสมอง” เข้ามาสอน (พันธ์พิมพ์ไม่ได้รายละเอียดส่วนนี้) ปีละ 2 เดือน จะมีนักศึกษาฝึกหัดจากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามมาฝึกสอน อย่างไรก็ดี เครื่องมือสำคัญ เช่น หนังสือเรียนและสิ่งช่วยสอน ยังมีน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการ



พันธ์พิมพ์ได้ถือโอกาสเรียน ผอ. ว่า มีความตั้งใจมาตลอดชีวิตว่า จะซื้อหนังสือเรียนให้นักเรียนที่ขาดแคลน (ความตั้งใจจริงๆ คือ อยากให้ทุนการศึกษาแก่เด็ก คงต้องรอสักพักหนึ่ง กว่าจะได้ทำตามนั้น) ผอ. ดีใจมากและบอกว่า จะเป็นบุญของเด็กๆ หากมีคนช่วยเหลือ ดังนั้น พันธ์พิมพ์กะว่า จะไปดูสถานการณ์และสภาพของโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น


เด็กๆ มายืนรอดูว่า พวกพี่ๆ เขาจะทำอะไรบ้าง


ส่วนหนึ่งของเด็กๆ ในหมู่บ้านที่มาดูการนำเสนองานของพี่ๆ นิสิต


โรงเรียนตั้งอยู่ชายเขตของหมู่บ้าน มีถนนหลักของหมู่บ้าน (ที่เป็นลูกรัง) ตัดผ่านไปถึงหน้าโรงเรียน ตัวอาคารเป็นชั้นเดียว หากเดินตามถนนหลัก เลยออกไปจากโรงเรียน จะถึงบ่อทดลองเลี้ยงปลาและโรงทอผ้าไหม ในเช้าวันอากาศเย็นแบบนี้ บรรยากาศดีไม่น้อย แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้าเป็นหน้าฝนละก็ เด็กๆ เขาจะทำอย่างไร ถนนคงจะเละเป็นโคลน แล้วก็ลื่นอีกด้วย

ตลอดเส้นทาง จะมีก้อนอึวัวเป็นระยะๆ นี่ถ้าเรายังเด็กๆ อยู่เหมือนสมัยที่รอบๆ บ้านลาดพร้าวยังมีแต่ท้องนาละก็ ต้องเอาปุ้งกี๋มากับจักรยาน ไล่ตามเก็บเอาไปทำปุ๋ยแล้ว น่าเสียดายที่คนเราทิ้งของดีๆ ที่เป็นปุ๋ยธรรมชาติให้แห้ง และสลายเป็นฝุ่นผงไปอย่างไม่รู้ค่า แต่ทุกคนที่นี่คงจะเห็นจนชินแล้ว และมีกองใหม่ๆ มาให้ทุกวันเสียด้วย

ปรากฏว่าเช้าวันที่ 15 ธันวาคม โรงเรียนปิด เนื่องจากตัวอำเภอมีงานประจำปี ดังนั้นชาวหมู่บ้านทั้งหลาย รวมถึงข้าราชการทุกคน ต้องไปร่วมงาน มีการประกวดผลผลิต ผลิตภัณฑ์ งานทอและจักสานทั้งหลาย น่าเสียดายที่กลุ่มชาวจุฬาฯ ไม่ได้มีโอกาสไปชม เพราะมีการนำเสนอผลงานของนิสิตแบบเอาคะแนน และอาจารย์ต้องอยู่คอยชมและวิพากย์

ดังนั้น ก่อนถึงเวลานิสิตเสนองาน พันธ์พิมพ์ก็เดินออกไปสำรวจโรงเรียนเสียก่อน พร้อมกับหาเด็กโตๆ ให้เป็นไก๊ด์ ก็ได้หนูๆ พวกนี้นำชมบริเวณรอบๆ โรงเรียน และให้ข้อมูลเพิ่ม หนูๆ พูดภาษาภาคกลางได้อย่างดี (อิทธิพลของโทรทัศน์และเำพลง) ในขณะที่พันธ์พิมพ์พอจะฟังภาษาอิสานออกบ้าง แต่พูดไม่ได้สักคำ หนูๆ เหล่านี้ดูแข็งแรงดี แม้จะผอมบางชนิดเทียบเด็กกรุงเทพฯ ไม่ติด




จำนวนนักเรียนของโรงเรียน


ไก๊ด์ผู้นำชมโรงเรียน นักเรียนชั้น ประถม 5 และ 6


ระเบียงหน้าห้องเรียน


กระดานที่ผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน จะเห็นด้านหลังของเก้าอี้นั่งของคุณครู ที่อยู่ในรูปข้างล่าง


โต๊ะที่ต่อเอง และเก้าอี้พลาสติกที่กรอบแล้ว บนโต๊ะคุณครูคือไม้ไผ่ไว้่ชี้กระดาน (หรือว่า "ไม้เรียว" ก็ไม่ทราบ จะสู้ ครู มรว.ทรงสุวรรณ และ ครูอมรา ป.2 ก และ ข โรงเรียนราชินีเมื่อ 36 ปีก่อนได้ไหมนี่)


ด้านหนึ่งของหนึ่งในสามห้องเรียน


ห้องเรียนอนุบาล 1+2 และประถม 1+2 เนื่องจากห้องล็อก เพราะโรงเรียนปิด พันธ์พิมพ์ถ่ายภาพนี้ผ่านรูที่ประตู ซึ่งเคยมีลูกบิดประตูอยู่


อีกห้องเรียนหนึ่ง ซึ่งถ่ายผ่านช่องลูกบิดประตูเช่นกัน


ที่นั่งทานอาหารกลางวันของเด็กๆ


กระต๊อบอาหารกลางวัน สังเกตที่นั่งที่หักไปครึ่งหนึ่ง


กระต๊อบอาหารกลางวันที่เพิ่งพังลงมาเมื่อเร็วๆ นี้


หนึ่งในสองแท้งค์รองน้ำฝนสำหรับดื่ม มีก๊อกน้ำอยู่ด้านล่าง
น้ำฝนจากหลังคาจะไหลลงมาตามท่อ ต่อเข้าแท้งค์โดยตรง (แล้วฝุ่นบนหลังคาล่ะ มีใครล้างแท้งค์บ้างไหมนี่)


สมุดเรียนของเด็กๆ

เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ คุณครูผู้สอนต้องสร้างอุปกรณ์ขึ้นมาเอง
เด็กๆ ต้องใช้สำเนาเอกสารที่คุณครูไปจัดทำให้ ซึ่งเมื่อได้มาแล้ว ก็ต้องเข้าแฟ้มเก่าๆ ที่ที่หนีบขึ้นสนิมแล้ว




หนังสือที่อยู่บนชั้น
สังเกตโต๊ะเรียนเก่าๆ 2 ตัว ที่ชำรุดมากๆ อยู่ข้างๆ




หนังสือเก่าๆ จากอดีต ถ้าหยิบขึ้นมา อาจหลุดร่วงเป็นแผ่นๆ


พันธ์พิมพ์เห็นหนังสือเก่าๆ เหล่านี้แล้วอยากร้องไห้ ยิ่งมานึกถึงหนังสือสีสวยๆ และเนื้อหาหลากหลายสาระ ในร้านหนังสือใหญ่ๆ ในกรุงแล้วก็ยิ่งเศร้า ไม่รู้ว่าเด็กเมืองกรุงจะรู้บ้างไหมหนอว่า ตัวเองโชคดีแค่ไหน ที่อยู่ใกล้ขุมทรัพย์ทางปัญญาขนาดนี้

น่าเสียดายที่โรงเรียนปิดในวันที่พันธ์พิมพ์ไปดู ขอโทษที่ไม่มีรูปเด็กๆ ที่กำลังนั่งเรียนในสถานการณ์จริง


สนามเด็กเล่นในบริเวณโรงเรียน


พันธ์พิมพ์ใช้เวลาราว 40 นาทีที่โรงเรียนบ้านโนนสำราญ เพื่อถ่ายรูปและซักถามข้อมูลจากเด็กๆ แกเล่าให้ฟังถึงความยากลำบาก และความฝันอยากได้อ่านหนังสือนานาชนิด

พันธ์พิมพ์พยายามกลั้นน้ำตาไว้ไม่ให้แกเห็น เดี๋ยวจะตกใจ พร้อมกับสัญญาว่า จะช่วยทำให้ความฝันของแกเป็นจริง


แด่ท่านผู้มีจิตศรัทธาที่ร่วมกัน ช่วยซื้อหนังสือให้โรงเรียนบ้านโนนสำราญ ขอได้รับคำขอบพระคุณจากพวกหนูและน้องๆ ล่วงหน้าค่ะ



ข้อมูลเกี่ยวกับ project นี้
โปรดอ่านจาก โครงการหนังสือเรียนของหนู

หัวข้อหนังสือที่หนูๆ ขอมา
โปรดอ่านจาก Schoolbooks for Kids

สำหรับเพื่อนๆ และญาติของพันธ์พิมพ์ ที่สนใจบริจาคทรัพย์
โปรดอ่าน ข้อปฏิบัติของโครงการ

ตรวจสอบรายนามผู้บริจาคและค่าใช้จ่ายที่ ยอดบริจาคและการใช้จ่าย

หนังสือที่ได้จัดซื้อและส่งไปให้แล้ว
โปรดดูที่ หนังสือที่ซื้อให้แล้ว